“วิถีแบบไทยๆ” กับคำตอบว่าทำไมความคิดใหม่ๆ ถึงเกิดขึ้นได้ยากบนแผ่นดินนี้

ข้อความข้างต้นฟังดูแล้วอาจแทงใจดำ แต่นี่คือความจริงที่คนไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ (และไม่มีใครกล้าที่จะออกมาบอก)

หัวข้อนี้ผมได้มาจากการไปฟังเสวนา “Very Thai: Cultural Filter” โดย Philip Cornwel-Smith ผู้เขียน “Very Thai” หนังสือที่ว่าด้วยวัฒนธรรม “แบบไทยๆ” ที่เราเองก็ไม่เคยสงสัย หาความหมาย หรือ ตั้งคำถามกับพวกมันมาก่อน เช่น การเอาทิชชู่สีชมพูมาห่อช้อนส้อม หรือ ทำไมไฮโซต้องตีกระบัง

จากความรู้ที่ได้รับตลอดเกือบสองชั่วโมงจากหนึ่งในคนที่มองสังคมไทยแบบถึงกึ๋นที่สุด
ประโยคที่ผมฟังแล้วถึงกับต้องหยิบสมุดมาจดในทันที (และเป็นที่มาของ blog นี้) คือ

Foreign Designers of ‘Thai Style’ were more Freedom
นักออกแบบชาวต่างชาติมีอิสระมากกว่า (คนไทย) ในการเล่นกับ ‘ความเป็นไทย’ 

และ ตัวอย่างที่เขายกมาก็ล้วนแต่คนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยทั้งสิ้น เช่น
จิม ทอมป์สัน เจ้าพ่อแห่งไหมไทย หรือ จิโร เอนโดะ ศิลปินเลือดปลาดิบที่กำลังมาแรง เป็นต้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้
เพราะเขาเป็นคนต่างชาติ? เพราะเขารู้จักคนมากกว่า? เพราะเขาดังอยู่แล้ว? ฯลฯ
จริงๆ แล้ว คำตอบที่เราค้นหาอยู่ในสไลด์แผ่นที่อยู่ก่อนหน้านี้

แผ่นนี้

Deconstruct = Discrete?
การล้มแนวคิดเดิมแล้วสร้างใหม่ = การลบหลู่? 

และตัวอย่างที่เขายกมาก็ล้วนแต่เป็น “ความเป็นไทยแท้” ที่ทำให้ไอเดีย แนวคิด หรือผลงานบางอย่างในไทยไม่อาจเกิดได้ (หรือตายไปด้วยความน่าเสียดาย)
ทีนี้เราลองมาดูกันทีละหัวข้อกัน

1. ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ – ไม่เชื่อไม่ว่าแต่อย่ามายุ่ง
ผี / ขอหวย / ไสยศาสตร์ / น้ำมนต์ / เกจิ / GT200 / ฯลฯ
คนที่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ ต่างก็เชื่ออย่างสุดใจ และพร้อมเป็นกำแพงที่คอยกั้นคนที่อยากจะเข้าไปพิสูจน์อย่างสุดชีวิต
ทั้งๆ ที่ทำในความเป็นจริง (และที่ทำกันอยู่ทั่วโลก)​ คือการ “ไม่เชื่อต้องลบหลู่”
เพื่อที่จะได้เห็นกันชัดๆ ว่า แนวคิดที่มีอยู่แต่เดิมนี้มีข้อบกพร่องตรงไหน หรือ สามารถนำมาต่อยอด ตีความใหม่ หรือ แตกย่อยออกมาเพิ่มเติมตรงไหนได้บ้าง

2. ไม่มีการกระตุ้นให้ตั้งคำถาม (โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในขั้นเหนือกว่า)
ลองนึกภาพว่า ถ้ามีเด็กไทยคนหนึ่งยกมือถามครูในวิชาสังคมว่า
“ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แล้วที่ไทยแพ้พม่านี่นับไหมครับ?”
แล้วห้องเรียนจะเป็นอย่างไร (และ ชะตากรรมของเด็กคนนี้จะเป็นแบบไหน)

ผมคิดว่าคำถามที่สร้างสรรค์มีคุณค่ามากกว่าคำตอบตามตำราอยู่หลายเท่านัก
เพราะการตั้งคำถามที่ดีจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ถาม และ ผู้ถูกถาม อย่างเอนกอนันต์
แต่บรรยากาศเหล่านี้กลับถูกปิดกั้นด้วยแนวคิดแปลกๆ ทำนองว่า จะรู้ไปทำไม / น่ารำคาญ / เด็กอวดฉลาด / ปีนเกลียว และอื่นๆ อีกมากมายจากคนที่อยู่ในระดับสูงกว่า
ระบบแบบนี้ทำให้เด็กไทยเริ่มขี้เกียจที่จะถาม ขี้เกียจที่จะกล้าคิดแหวกแนว
เพราะไม่อยากแส่หาเรื่องให้เป็นที่เหม็นขี้หน้าของอาจารย์ (และผู้รู้ในแขนงอื่นๆ ) เสียเปล่าๆ
และแน่นอนว่า ไอเดียดีๆ ก็อาจจะตายไปพร้อมกับใจอันห่อเหี่ยวของคนๆ นั้น

3. ความอาวุโสเป็นใหญ่เหนือกว่าความสวยงามและวิธีการ
รู้จัก พิเชษฐ กลั่นชื่น ไหมครับ?
ในสายตาชาวโลก เขาคือศิลปิน นักเต้นโขนที่คนทั่วโลกปรบมือชื่นชม
ในสายตาของกรมศิลปากรและคนโขนของไทย เขาคือคนทำลายศิลปะโขน และ ไม่มีใครยอมรับเป็นพวก
เพราะ พิเชษฐนำโขนที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยมาแยกส่วนและตีความใหม่
เช่น การแสดงโขนขาวดำ หรือ การแสดงโขนที่ตัดทอนความสวยงามของชุดเพื่อเน้นที่ท่วงท่าการรำโดยการสวมแค่หัวโขน และ กางเกงใน!

พิเชษฐ เป็นหนึ่งในคนที่ Philips ยกตัวอย่างในการเสวนาครั้งนี้
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในแวดวงศิลปะ (และอีกหลากหลายวงการ)​ ของบ้านเรา คือ
‘ความงดงามหรือคุณค่าในชิ้นงาน คือ สิ่งที่ศิลปินอาวุโสเห็นชอบแล้วว่าดี’
แทนที่เราจะอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยการนำลงมาต่อยอดและให้ทุกคนเข้าถึง
แต่เรากลับเลือกการนำมันไปเก็บไว้บนหิ้ง เพราะแปะป้ายว่า “ห้ามจับโดยเด็ดขาด”

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่หลายๆ คนจึงเลือกช่องทางเผยแพร่ผลงานของตัวเองโดย “การส่งไปเมืองนอก”​ เป็นตัวเลือกแรก เพราะมั่นใจว่า ถ้าโลกยอมรับ คนในประเทศไทยถึงจะยอมรับ (แม้ว่าตอนแรกจะด่าซะสาดเสียเทเสียก็ตาม)

4. ‘เรื่องบางเรื่อง’ คนธรรมดาห้ามแตะ
เคยเห็นภาพนี้ไหมครับ

“ภิกษุสันดานกา” ภาพนี้เคยเป็นข่าวโด่งดัง มีพระสงฆ์หลายรูปออกมาต่อต้านให้นำภาพนี้ออกจากการแสดงโชว์ เพราะ ทำให้หมิ่นศาสนาพุทธ ดูหมิ่นสถาบันสงฆ์ เป็นการบอกว่าพระสงฆ์มีพฤติกรรมลุ่มหลงในไสยศาสตร์ดั่งพฤติกรรมของพระในภาพ

ทั้งๆ ที่ภาพนี้ชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทองประเภทจิตรกรรม จากการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ประจำปี 2550 และ ที่มาของภาพนี้ก็ยกมาจากในพระไตรปิฎกเองด้วยซ้ำ!

บ้านเรายกเรื่องศาสนาพุทธเป็นเรื่องที่ห้ามแตะต้อง
ถ้าใครเข้าไปวิพากย์วิจารณ์(แม้ว่าจะเป็นเจตนาดี) ก็จะโดนตราหน้าว่าเป็นคนชั่ว คนบาป คนไร้ศาสนาโดยทันที
ทั้งๆ ที่เราต่างก็เห็นกันอยู่ตำตาว่าตอนนี้หนึ่งในสถาบันของประเทศเรานั้นเละตุ้มเป๊ะกันมากขนาดไหน
‘ข้อห้าม’ ประมาณนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ในประเทศนี้เช่นกัน

(ตัวอย่างที่น่าสนใจในหัวข้อนี้ที่ Philips ยกมา คือ
การเปรียบเทียบระหว่าง พระพุทธรูปบนชุดว่ายน้ำของฝรั่ง กับ หุ่นฮิตเลอร์ในร้านขายเสื้อยืดของไทย – เรื่องบางอย่างที่เราเห็นว่าธรรมดา อาจจะเป็นเรื่องที่เซ็นสิทีฟกับอีกคนหนึ่ง)

พอฟังสไลด์หน้านี้จบ ผมก็ได้แต่ขำแห้งๆ ในใจ
เพราะผมเอง เป็นคนไทยที่มานั่งฟังฝรั่งมาอธิบายเรื่องวัฒนธรรมไทยๆ
โดยไม่โดนคนรอบข้างถากถางว่า “จะอยากรู้ไปทำไม” หรือ “มึงบ้าหรือเปล่า” หรือ “ลบหลู่ความเชื่อทำไม”

เพราะว่าเขาไม่ได้ติดอยู่ในบ่วงสี่ข้อที่กล่าวมาข้างต้น
เพราะว่าเขาเป็น นักออกแบบชาวต่างชาติที่มีอิสระมากกว่า (คนไทย) ในการเล่นกับ ‘ความเป็นไทย’ 

31 thoughts on ““วิถีแบบไทยๆ” กับคำตอบว่าทำไมความคิดใหม่ๆ ถึงเกิดขึ้นได้ยากบนแผ่นดินนี้

  1. “วิถีแบบไทยๆ” ความจริงแลัวดีครับ แต่คนที่นำไปใช้กลับเป็นคนใจแคบมากกว่า ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ผมเองก็รักความเป็นไทยๆ แต่คนหลายจำพวกกลับชอบทำตัว เทยๆ วิถีแบบไทย ความจริงแล้วคือ ความเคารพในสิ่งที่เราเป็นนั้นเอง…!

  2. การไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ถือว่าเป็นจุดแข็ง แต่ก็ควรจะเปิดโอกาศให้คนไทยบางกลุ่มได้พัฒนาอะไรบ้าง ในรูปแบบสากล ผมว่าการเคารพสิทธินี้แหละ ที่ต้องปรับปรุง

  3. Reblogged this on Blog of anything – Anything I can post ^_^ and commented:
    วิถีไทย ที่ไทยจนไม่ไปไหนกันเสียที (จะให้แก้ปัญหาได้ คนไทยต้องรับรู้ปัญหาเองให้ได้ซะก่อน…ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ !?)

  4. ในความคิดของผมแล้ว แนวคิดหรือความเชื่อใดๆจะมีวัฏจักรคือจุดเริ่มจุดรุ่งเรือง ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดจะเป็นประโยชน์เป็นสิ่งที่ดีกับคนส่วนมาก และจุดดับ ซึ่งจะมาจากการค่อยๆบิดเบี้ยวไปสู่สิ่งไม่ดี หลักการที่ดีมาก่อนก็จะกลายไปเป็นความขัดแย้งกับกาลเวลาและสิ่งใหม่ๆ เพราะไม่สามารถตอบสนองปัญหาใหม่ๆได้แล้ว และเริ่มสร้างปัญหาเสียเอง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่งการต่อต้านและการล้มล้างโดยแนวคิดใหม่ในที่สุด

    ถ้าชาวไทยไม่ใช่อารยธรรมเดียวที่เกิดมาจากแนวคิดที่ปิด ถามว่าทำไมไทยยังไม่เปลี่ยนไปเสียที ผมเห็นว่าเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีความสามารถหรือความตั้งใจในการล้มแนวคิดเก่าเสียส่วนใหญ่ อาจจะเนื่องมาจากการที่ไม่เคยบกพร่องในผลประโยชน์ ถ้าฟังผู้ใหญ่ก็ได้เลื่อนขั้น ถ้าไม่แย้งอาจารย์ก็ได้คะแนนจิตพิสัย ถ้าทำตามๆเขาไปก็จะไม่เดือดร้อน เป็นต้น โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้ตกอยู่กับคนรุ่นใหม่ทุกคนที่จะใช้แนวคิดที่เหมาะสมกับปัจจุบัน และเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางสร้างสรรค์ ถ้าทุกคนปล่อยมันผ่านไปไม่ว่าจะเพราะอะไร มันก็เข้าอีหรอบเดิมแบบนี้แล

    “Insanity: doing the same thing over and over again and expecting different results.” -Albert Einstein

    ^ ใครเล่น Farcry 3 จะคุ้นเคยดีครับ 555+

  5. Reblogged this on Stay Hungry, Stay Foolish…Stay with My Passion and commented:
    แทงใจจนพูดไม่ออก รู้สึกกับมันมานานกับสังคมสมัยนี้ แต่ก็เพิ่งมีคนกล้ามาแจกแจงเป็นข้อๆนี่แหละ แถมไม่ใช่คนไทยซะด้วยยย

  6. เป็นความจริงที่ควรเรียนรู้และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปแต่เข้าใจความควร ว่าควรกล้าแสดงออกเช่นไรให้งดงาม..ณัฏฐา

  7. ประเทศไทยเราถูกครอบด้วยกะลาแก้วครับ เราไม่เคยเป็น ไท ทางความคิดโดยเฉพาะการพูดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งยวด “การตั้งคำถาม” จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางเรื่องเสมอ

  8. ถ้าผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาของไทยยังคิดไม่ออกว่า จะสร้างครูที่สามารถสอนให้เด็กรู้จักคิดมากกว่าการสอนให้จำ เช่นมี่ทำอยู่ ระบบการทดสอบ และ การวัดผลเพื่อการศึกษาขั้นสูงขึ้นที่เน้นเพียงแค่ความรู้-ความจำอย่างที่เป็นอยู่ ก็น่าสงสารอนาคตประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไร .เมื่อเราสร้างทรัพยากรมนุษย์ได้เพียงแค่นี้เท่านั้น

  9. ป้าย “ห้ามจับโยเด็ดขาด” มิได้หมายความว่า จะต่อยอดไม่ได้ การต่อยอดทำได้หลายวิธี หากมีความคิดที่จะต่อยอด.

    1. ป้าย “ห้ามจับโดยเด็ดขาด” มิได้หมายความว่า จะต่อยอดไม่ได้ การต่อยอดทำได้หลายวิธี หากมีความคิดที่จะต่อยอด.

  10. “ไม่เชื่อต้องลบลู่” ใช่เลยประโยคนี้
    บางครั้งเราก็แค่ตั้งคำถามให้เกิดความคิด แต่ก็โดนตอกกลับมา

  11. ศรัทธาของท่าน ความเชื่อของท่าน ก็เป็นของท่าน
    ความเชื่อของเรา ศรัทธาของเรา ก็เป็นของเรา

    มันไม่มีถูกหรือผิด การยัดเยียดแนวความคิดก็ไม่ต่างอะไรกับยึดติดด้วยเช่นกัน

    1. ถ้าสิ่งเก่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่สามารถตอบคำถามถึงที่มาที่ไปอันสมเหตุสมผลได้ บ่อนทำลายความเจริญและสร้างกระบวณทัศน์แย่ๆให้กับสังคม สิ่งเก่านั้นสมควรถูกเลิกไปไหม?

  12. เรื่องศาสนาคุณจะบอกว่าสาสนาพุทธงมงาย แล้วคุณได้เคยอ่านคำสอนของสาสนานั้นรึยัง พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เชื่อหรืองมงายเรื่องไสยาสตคนต่างหากล่ะที่อาสัยกินกับศาสนา ถ้าคุณจะจะบอกว่าประเทศไม่พัฒนาเพราะศาสนาพุทธแล้วละก้คุณคิดผิดแล้ว การศึกษาไทยต่างหากล่ะที่ทำให้ชาติไม่พัฒนา ไอสไตน์เขายังยกย่องพุทธศาสนาเลย คุณมองแค่เปลือกนิ

  13. คนไทยโดนฝรั่งสอนเรื่องความเป็นไทย
    So irony.

  14. กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (ประมาณ 8 ปี) เหล่าผู้ใหญ่เคยเชื่อว่า ราคาทองมีแต่ขึ้น ไม่มีตก… ทุกวันนี้ชัดเจนแล้วว่า มันไม่จริง

    นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างว่าผู้ใหญ่ไม่ว่าใครก็ไม่ได้ถูกทุกอย่าง ถึงว่าคิดใหม่คิดเองทำเองซักทีดีมั้ย?

    Once upon the time (about 8 years ago), our parents’ generations believed that gold prices would continue to go up without decline. Apparently, history has confirmed that such belief was wrong. Don’t you think now is a good time to start thinking by ourselves from different perspectives, relying less on plain beliefs of older generation, and doing things differently in this changing world?

Leave a reply to paisupat Cancel reply